https://108aboutmoney.blogspot.com/google.com,%20pub-3791389710662192,%20DIRECT,%20f08c47fec0942fa0 พ.ร.บ.หนี้ กยศ.(ต้องจ่าย)

หน้าเว็บ

พ.ร.บ.หนี้ กยศ.(ต้องจ่าย)

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ รูปหนี้ กยศ
จากการที่ พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อจัดระเบียบและปรับความคล่องตัวให้กองทุนฯ มีประสิทธิภาพในการให้กู้และติดตามหนี้มากขึ้น โดยปัจจุบันมีผู้ที่ไม่ชำระหนี้กว่า 2.3 ล้านคน ซึ่งปีหน้าเตรียมใช้มาตรการใหม่ หักเงินเดือนชำระคืน หวังนำเงินกลับเข้ากองทุนฯ เพื่อส่งต่อให้น้องๆ รุ่นหลังผู้ต้องการทุนเรียนต่อไป  

ตัวเลขเงินกู้ กยศ. 5.6 แสนล้าน 
จากการเปิดเผยข้อมูลสถานะการให้กู้ยืมเงิน โดย กยศ. พบว่ามีนักเรียน นักศึกษาในระดับมัธยมปลายจนจบระดับปริญญาตรี ที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาจากกองทุน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2539 - 2560 โดยแยกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จำนวน 4.9 ล้านราย และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) จำนวน 4.8 แสนราย รวมทั้งสิ้น 5.4 ล้านราย เป็นวงเงินให้กู้ยืมเพื่อใช้เป็นทุนเล่าเรียนกว่า 5.6 แสนล้านบาท โดยในปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา มีการปล่อยให้กู้ยืมจำนวน 7 แสนราย แบ่งเป็น กยศ. จำนวน 18,851 ล้านบาท และ กรอ. 7,189 ล้านบาท

ขณะที่สถานะผู้กู้ยืมเงินกองทุน ซึ่งอยู่ระหว่างการชำระหนี้ มีจำนวน 3,596,462 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 67 ของผู้กู้ทั้งหมด, ผู้ที่อยู่ช่วงระยะปลอดหนี้ (2 ปีหลังจบการศึกษา) จำนวน 982,147 ราย คิดเป็นร้อยละ 18 ผู้ที่ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว จำนวน  741,990 ราย คิดเป็นร้อยละ 14 และผู้เสียชีวิต (ระงับหนี้) หรือทุพพลภาพ (ระงับหนี้ชั่วคราว) จำนวน 51,191 ราย คิดเป็นร้อยละ  1
กยศ.

เผยมีผู้ชำระหนี้กองทุนเพียง 35%
เมื่อดูจากจำนวนผู้ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ กยศ. โดยพ้นจากช่วงระยะปลอดหนี้ 2 หลังจากเรียนจบแล้ว และมีระยะเวลาในการดำเนินการชำระหนี้ 15 ปี จำนวนกว่า 3.6 ล้านคน ปรากฏว่ามีผู้กู้ยืมที่ชำระหนี้เพียง 1.3 ล้านราย หรือคิดเป็นร้อยละ 35 ส่วนผู้กู้ที่ผิดนัดชำระหนี้มีจำนวนกว่า 2.3 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 65

โดยผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระหนี้ค้างจ่ายคืนกองทุนเป็นจำนวนเงินสูงถึง 68,800 ล้านบาท ซึ่งเมื่อประมาณการจากวงเงินกู้ยืมเฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 100,000 บาท เท่ากับว่าเงินที่ค้างชำระสามารถนำไปเป็นทุนให้นักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนค่าเล่าเรียนถึง 688,000 คนเลยทีเดียว

ในส่วนการดำเนินคดีทางกฎหมายกับผู้ที่ผิดนัดชำระหนี้กองทุน ขณะนี้มีจำนวนสูงถึง 1.1 ล้านราย โดยเป็นผู้กู้ยืมเงิน กยศ. จำนวน 1 ล้านราย และผู้กู้ยืมเงิน กรอ. จำนวน 1 แสนราย ซึ่งมีผู้ที่อยู่ในกระบวน-การบังคับคดีแล้วกว่า 1 แสนราย 
กยศ.
เผยมุมมองลูกหนี้ผิดสัญญา
จากสถิติผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระหนี้ที่มีจำนวนมากจนน่าตกใจนั้น คุณปรีชา บูชางกูร รองผู้จัดการ กยศ. ได้เปิดเผยมุมมองของลูกหนี้ที่มีประสิทธิภาพในการชำระแต่ค้างจ่ายคืนกองทุนฯ พบว่า 1. ผู้กู้ยืมเงินมีมุม-มองว่าภาครัฐจะยกหนี้ให้ฟรี 2. วัฒนธรรมที่ผิดๆ คิดว่าผู้ใดจ่ายเงินคืนกองทุนคือ คนโง่ และ 3. เรื่องอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี ตลอด 15 ปี ที่ถือว่าถูก ทำให้ผู้กู้เลือกไปจ่ายเงินกู้อื่นที่มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า จนไม่มีเงินจ่าย หรือลืมไปเลยว่าเป็นหนี้กองทุนฯ
กยศ.
ในส่วนของมุมมองจากผู้กู้ยืมเงินที่ชำระปกติ พบปัจจัยสำคัญได้แก่ 1. ต้องการที่จะปลดภาระหนี้สิ้น 2. ถือเป็นการส่งต่อโอกาสทางด้านการศึกษาให้กับคนที่ต้องการต่อไป และ 3. เป็นความรับผิดชอบต่อสังคม

เมื่อดูจากสถิติในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ยอดเงินการชำระหนี้กองทุนฯ มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยในปีงบประมาณ 2558 มีการจ่ายคืน จำนวน 18,318 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2559 จำนวน 21,419 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2560 จำนวน 25,978 ล้านบาท อันเป็นผลมาจากมาตรการจูงใจต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้นำเงินกลับเข้ามาในระบบ ไม่ว่าจะเป็น การลดเบี้ยปรับ 100%, ผู้ที่ไม่เคยค้างชำระ หากมาปิดบัญชีก็มีการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีมาตรการเชิงรุก โครงการ กยศ. กรอ. เพื่อชาติ ซึ่งกองทุนฯ จะดำเนินการเพียงชั่วคราว เพื่อไม่ให้ลูกหนี้เคยตัว ที่หวังรอจังหวะชำระช่วงโปรโมชั่นเท่านั้น

เพิ่มประสิทธิภาพให้กู้-ติดตามหนี้
โดยเมื่อ 26 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ได้มีการประกาศใช้กฎหมายใหม่คือ พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 เพื่อจัดระเบียบ 2 กองทุน ได้แก่ กยศ. ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2539 ซึ่งอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2541 และ กรอ. ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการบริหารกองทุนเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2549 ให้อยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคและข้อจำกัดของกองทุน และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของกองทุน ด้านการให้กู้ยืมและการติดตามหนี้ที่มีอยู่จำนวนมหาศาล

โดยในส่วนของผู้กู้ยืมเงิน นอกจากจะสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาด้วยการให้กู้ยืมเงิน เดิมสำหรับผู้ขาดแคลน ยากจน และผู้ที่ศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลักของการผลิตกำลังคน และมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศแล้ว      ยังเพิ่มในส่วนของผู้ที่เรียนในสาขาวิชาที่ขาดแคลน หรือกองทุนส่งเสริมเป็นพิเศษ และผู้ที่เรียนดีสร้างความเป็นเลิศ ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ที่ต้องการทุนในการเล่าเรียน

ขณะเดียวกันผู้กู้ยืม มีหน้าที่จะต้องแจ้งสถานะเป็นผู้กู้ยืมเงินต่อนายจ้าง ภายใน 30 วันนับแต่เริ่มปฏิบัติงาน และจะต้องชำระเงินคืนกองทุนโดยการหักจากเงินเดือนทุกเดือน แทนการจ่ายเป็นรายปี รวมทั้งยินยอมให้กองทุนเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินและการชำระเงินคืน

ในส่วนของนายจ้าง ทั้งภาครัฐและเอกชน มีหน้าที่หักเงินได้พึงประเมินของผู้กู้ยืมเงินซึ่งเป็นลูกจ้าง ได้แก่ เงินเดือน/ ค่าจ้าง โดยนำส่งกรมสรรพากรภายในระยะเวลานำส่งภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย ทั้งนี้ นายจ้างจะดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อจะได้รับการแจ้งจากกองทุนฯ อย่างเป็นทางการแล้วเท่านั้น หากนายจ้างไม่ดำเนินการ หักแต่ไม่นำส่ง นำส่งแต่ไม่ครบ จะต้องรับผิด ชดใช้เงินที่ต้องนำส่งในส่วนของผู้กู้ยืมต้องจ่ายเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่นายจ้างยังไม่ได้นำส่งหรือที่ยังขาดไป

นอกจากนี้ยังปลดล็อกข้อจำกัดของกองทุนฯ ให้อำนาจขอข้อมูลส่วนบุคคลของผู้กู้กองทุนฯ จากทุกหน่วยงานหรือองค์กรทั้งราชการและเอกชน เช่น สำนักงานประกันสังคม, กรมสรรพากร, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) รวมไปถึงสามารถขอหมายเลขโทรศัพท์จากค่ายโทรศัพท์ ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ต้องจัดส่งข้อมูลให้ตามที่กองทุนฯ ร้องขอ

มนุษย์เงินเดือนหนาว ดีเดย์หักเงินเดือนลูกหนี้ เริ่ม ก.พ. 61
สำหรับการหักเงินเดือนผู้ที่กู้ยืมเงินเพื่อชำระเงินคืนกองทุน จะมีการนำร่องในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 โดยเริ่มกับข้าราชการในสังกัดกระทรวงการคลัง ประมาณ 600 คน หลังจากนั้นจะขยายไปยังข้าราชการในสังกัดกระทรวงอื่นๆ สุดท้ายก็ไปภาครัฐวิสาหกิจ หน่วยงานราชการ และภาคเอกชน ต่อไป

โดยการหักเงินเดือนเพื่อชำระคืนกองทุนนั้น จะมีลำดับในการหักเงินต่อจาก การหักภาษี ณ ที่จ่าย และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือประกันสังคมก่อน ถึงจะสามารถหักเงินกู้ยืมกองทุน ส่วนหนี้ที่ไปก่อที่อื่นจะต้องชำระหลังจากหนี้กองทุน

ทั้งนี้ แม้ว่ากองทุนจะมีมาตรการข้อบังคับทางด้านกฎหมายออกมาเพื่อให้มีการชำระเงินคืน แต่สิ่งที่ควรเกิดในกลุ่มผู้กู้ยืมคือ วินัยทางการเงิน และตระหนักถึงหน้าที่รับผิดชอบต่อตนเองและส่วนรวม เพราะเงินดังกล่าวเป็นภาษีของคนในชาติที่หยิบยื่นโอกาสให้กับคนที่ต้องการเรียน และอยากนำความรู้มาพัฒนาประเทศชาติในรุ่นต่อๆ ไป 

คุณปรีชา บูชางกูร รองผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา 
“กยศ. เป็นกองทุนเงินที่ให้กู้ยืมเงินไปกว่า 5 แสนล้าน ฉะนั้นควรมีเงินกลับมาหมุนเวียนในแต่ละปีการศึกษา ถ้าทำอย่างนั้นได้จะเป็นการลดการพึ่งพางบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นภาษีของประชาชน ซึ่งเงินก้อนนั้นก็จะใช้ไปในการพัฒนาประเทศในสาขาอื่นได้ ในแง่ตัวผู้กู้ถ้ามีความรับผิดชอบ ชำระหนี้ปกติ นั่นคือการส่งโอกาสให้กับรุ่นน้อง ในแง่องค์กรนายจ้างก็มีส่วนในการสร้างช่วยเหลือประเทศชาติ อีกทั้งยังได้ทราบว่ามีลูกจ้างมีจิตสำนักหรือขาดความรับผิดชอบหรือไม่ ก็จะเห็นกันตอนนี้”

คุณณัฐพัชร์ ธีรนันทนิตย์ ผู้กู้ยืมเงิน กยศ.  
“การที่เราได้รับโอกาสจาก กยศ. ทำให้สามารถเรียนต่อจนกระทั่งจบระดับสูงสุด เมื่อทำงานหารายได้แล้ว การคืนเงินคือหน้าที่สำคัญของคนได้รับทุน และเป็นหน้าที่ในการส่งมอบโอกาสต่อในรุ่นต่อไป ช่วยเหลือคนที่ขาดแคลน ให้ได้เรียนในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งเขาก็จะสร้างรายได้ให้ประเทศกลับมาเป็นเงินภาษี นี่คือความสำคัญต่อสังคม ส่วนต่อตนเอง ผมมองว่าเป็นเรื่องของความกตัญญูรู้คุณ สะท้อนว่าเรายังเป็นพลเมืองที่ดีอยู่”

ไม่มีความคิดเห็น:

โพสต์แนะนำ