เทคนิคการหมุนเงินด้วยบัตรเครดิต
พูดถึงบัตรเครดิตเชื่อว่า ทุกคนต้องมีอย่างน้อยหนึ่งบัตรอยู่ติดกระเป๋า บางคนมีมากกว่า 3 บัตรพกติดตัว บัตรเครดิตในปัจจุบันเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ใช้แทนเงินสดได้อย่างสะดวกสบาย มีร้านค้ารับบัตรหลากหลายตั้งแต่ ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร โรงแรม โรงพยาบาล ไปจนถึงปั๊มน้ำมัน ทำให้บางครั้งแทบไม่ต้องมีเงินสดติดตัว ก็สามารถออกจากบ้านได้อย่างสบายใจ แต่อย่างที่ว่า เหรียญมักมีสองด้าน หากใช้บัตรเครดิตเพลินจนเกินไป บัตรเครดิตก็มีโทษได้เช่นกัน
ปัญหาของบัตรเครดิตมักมาจากการใช้จ่ายที่ไม่ระมัดระวัง ใช้มากจนเกินตัว ทั้งๆที่ผู้ออกบัตรให้ระยะเวลาที่เราจะใช้เงินล่วงหน้าฟรีๆ ไม่มีดอกเบี้ย 45-55 วันแล้วก็ตาม แต่บางคนก็เลือกที่จะติดหนี้บัตรเครดิต โดยการชำระบางส่วนหรือไม่ชำระเลย ดังนั้น จากประโยชน์ของบัตรเครดิตที่เราสามารถใช้เงินล่วงหน้าได้ฟรี เลยกลายมาเป็นโทษ เพราะเมื่อชำระเงินไม่ตรงเวลา ก็ต้องชำระดอกเบี้ยให้กับผู้ออกบัตร ซึ่งมีอัตราค่อนข้างสูง แพงกว่าดอกเบี้ยกู้บ้านเกือบสามเท่า ปัญหาที่ตามมาคือ หนี้สินที่พอกพูน และทำให้ผู้ที่มีปัญหากับบัตรเครดิตเลือกใช้วิธีกดเงินสดจากบัตรใบหนึ่งไปจ่ายอีกใบหนึ่งซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกทาง และยิ่งก่อภาระที่เพิ่มขึ้น
เทคนิคการใช้บัตรเครดิตอย่างชาญฉลาด
ในทางกลับกัน หากใช้บัตรเครดิตอย่างมีวินัย และบริหารการใช้จ่ายให้ดี ก็สามารถเพิ่มความคล่องตัว และสะดวกสบายให้เราไม่น้อยเลย คุณอุมาพันธ์ เจริญยิ่ง ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนการเงินส่วนบุคคล ธนาคารกสิกรไทย มี 10 เทคนิคง่ายๆ ในการใช้บัตรเครดิตอย่างชาญฉลาดมาแนะนำ ดังนี้
1. จดบันทึกทุกครั้งที่จ่าย หลายครั้งที่เรารู้สึกว่า ยอดใช้จ่ายแต่ละครั้งไม่มากเลยรูดใช้ทีละห้าร้อยบ้าง พันกว่าบ้าง แต่พอเจอยอดรวมกลับกลายเป็นหลายหมื่น การจดบันทึกรายจ่ายทุกครั้งจะช่วยเตือนให้เราทราบว่าใกล้เต็มวงเงินหรือยัง หรือใช้มากเกินงบประมาณที่ตั้งไว้หรือเปล่า นอกจากนี้ ยังจะช่วยให้เราบริหารการตัดรอบบัญชีได้ด้วยว่าบัตรไหน ตัดรอบเมื่อไหร่ จะได้เลือกใช้บัตรที่ทำให้เราจ่ายเงินได้ช้าที่สุดก่อน
2. เก็บสลิปบัตรเครดิตไว้ตรวจสอบ ควรเก็บสลิปบัตรเครดิตไว้จนกว่าจะได้ตรวจสอบยอดใช้จ่ายในรอบบัญชีให้เรียบร้อยค่ะ เพราะในบางครั้งหากเกิดเหตุการณ์ที่ยอดไม่ตรงกัน จะได้ทำเรื่องตรวจสอบได้ และเรามีเอกสารยืนยันพร้อมในมือ เช่น กรณีสลิปมีช่องให้เซ็นทิป แต่เราไม่ได้เซ็น แต่มียอดเรียกเก็บ เป็นต้น ในการตรวจสอบหากพบยอดที่ผิดปกติ หรือไม่ได้ใช้ ควรแจ้งผู้ออกบัตรโดยเร็วเพื่อขอทำเรื่องตรวจสอบซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลา
3. ระวังเลขท้ายบัตร ข้อมูลเลขที่บัตรเครดิต จัดเป็นข้อมูลที่ต้องเก็บรักษาให้ดีโดยเฉพาะเลขท้ายสามตัวด้านหลังบัตร ดังนั้นก่อนให้ข้อมูลใคร ควรตรวจสอบให้ดี มิฉะนั้นอาจเจอมิจฉาชีพขโมยข้อมูลไปใช้ได้
4. จดข้อมูลเลขที่บัตร วันครบกำหนดอายุ พร้อมเบอร์โทรติดต่อธนาคารเจ้าของบัตรไว้ในที่แยกต่างหาก เพื่อที่ว่า หากเกิดกรณีถูกล้วงกระเป๋า หรือลืมบัตรเครดิตไว้ที่ร้านค้า จะได้สามารถโทรแจ้งอายัดบัตรได้โดยพลัน ในกรณีที่เดินทางต่างประเทศ ควรถ่ายสำเนาบัตรเครดิตเก็บไว้ในกระเป๋าเดินทางเพื่อที่หากเกิดคราวเคราะห์เกิดเหตุกระเป๋าสตางค์สูญหาย จะได้สามารถติดต่ออายัด และออกบัตรใหม่ได้อย่างรวดเร็ว
5. ระวังอย่าให้บัตรประชาชนกับใคร จากข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ ที่เกิดเหตุการณ์ปลอมแปลงบัตรเครดิต เหมือนกับหนัง Face Off เมื่อเลขาฯสาวใช้บัตรประชาชนนายจ้างสาวไปสมัครบัตรเครดิต แล้วไปทำศัลยกรรมหน้าจนละม้ายคล้ายนายจ้าง นำบัตรไปรูดใช้ห้าล้านกว่าบาท ก็ทำให้ได้ข้อคิดว่า นอกจากจะต้องระวังข้อมูลบัตรเครดิตแล้ว ยังต้องระวังข้อมูลส่วนตัวด้วยโดยเฉพาะบัตรประชาชน หรือบัตรเครดิตใบเก่าที่ท่านกำลังจะยกเลิก อย่าลืมทำลายให้เรียบร้อยค่ะ เพื่อป้องกันคนนำข้อมูล หรือบัตรเก่าไปใช้งาน
6. ติดตามโปรโมชั่น ปัจจุบันในยุคที่การแข่งขันสูง บัตรเครดิตจึงมีการออกโปรโมชั่นดีๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นส่วนลดร้านอาหาร ที่พักตากอากาศ รวมถึงส่วนลดในการเติมน้ำมัน และการใช้จ่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ต การติดตามส่วนลดต่างๆ และเลือกใช้บัตรเครดิตให้ถูกใบก็จะเป็นตัวช่วยประหยัดเงินให้กับเราได้ บ่อยครั้งที่พบว่า ร้านค้ามีโปรโมชั่นส่วนลดที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารผู้ออกบัตรจะกำหนด บางร้านที่พนักงานกระตือรือร้นแจ้งเราก่อน ก็จะทำให้เราได้ประโยชน์ แต่ถ้าพนักงานไม่ได้แจ้ง ก็อาจทำให้เราเสียประโยชน์จากโปรโมชั่นได้ ดังนั้น จึงควรถามร้านค้าก่อนการชำระเงินเสมอว่า มีส่วนลดหรือโปรโมชั่นร่วมกับบัตรเครดิตใดบ้าง
7. ฝากเงินทุกครั้งเมื่อใช้ ข้อนี้เป็นเทคนิคแนะนำว่า ทุกครั้งที่ใช้บัตรเครดิต ต้องกันเงินไว้ให้เพียงพอกับยอดบัตรเครดิตที่จะมาเรียกเก็บในอนาคต อาจเลือกฝากเงินไว้ก็เป็นวิธีที่ง่าย หรือจะซื้อกองทุนตลาดเงินหรือกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นก็ได้ เพราะมีความคล่องตัวสูง เพราะการใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าต่างๆ ก็เหมือนการนำเงินอนาคตมาใช้หากบริหารไม่ดี ก็อาจตกเป็นหนี้บัตรเครดิตได้
8. เลือก Pay Lite ที่ให้เวลายาว เวลามีโปรโมชั่นให้ผ่อนสินค้าผ่านบัตรเครดิต ควรพิจารณารายละเอียดดูราคาเปรียบเทียบว่า ราคาสินค้าเท่ากันกับการชำระเต็มจำนวนหรือไม่ หรือการผ่อนชำระที่มีให้เลือกนั้น ต้องเสียดอกเบี้ยหรือไม่ เพราะในบางครั้งร้านค้าอาจแจ้งเราว่าผ่อนชำระได้ แต่เป็นการผ่อนชำระที่เสียดอกเบี้ยซึ่งทำให้เราต้องจ่ายค่าสินค้าแพงกว่าการชำระเต็มราคาในครั้งเดียว เมื่อเห็นทางเลือก Pay Lite ทยอยจ่ายด้วยเงินจำนวนน้อย อย่าลืมว่าต้องดูดอกเบี้ย ราคาที่ต้องชำระ และเปรียบเทียบระยะเวลาในการผ่อนชำระก่อนเสมอ ทั้งนี้ เมื่อเลือกซื้อสินค้าผ่อนชำระ ต้องอย่าลืมว่า ภาระการผ่อนนี้ จะติดตัวและติดตามเราไปทุกรอบบัญชี จนกว่าจะชำระครบทุกงวด และวงเงินของเราจะถูกตัดไปเท่ากับยอดซื้อเต็มจำนวนตั้งแต่ตอนต้น ซึ่งวงเงินดังกล่าวจะทยอยกลับเข้ามาเมื่อมีการผ่อนชำระ ข้อพึงระวังก็คือ วงเงินอาจเต็มจำนวนการใช้ได้โดยง่ายหากมูลค่าการผ่อนชำระสูง
9. เลือกชำระบัตรเครดิตผ่านการหักบัญชี เพื่อสร้างวินัยการชำระเงิน และเพิ่มความสะดวกในการจ่ายเงิน การเลือกชำระโดยการตัดบัญชีเงินฝาก จะเป็นตัวช่วยไม่ให้เราพลาดกำหนดการจ่ายค่าบัตรเครดิต ยิ่งถ้ามีบัตรเครดิตใช้หลายใบ บางครั้งในเวลาที่เรายุ่งก็อาจทำให้พลาดลืมไปชำระบัตรเครดิต ซึ่งทำให้ต้องเสียดอกเบี้ยโดยไม่จำเป็น การตัดบัญชีจึงเป็นทางเลือกสะดวก และป้องกันปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
10. ตั้งงบประมาณบัตรเครดิตทุกครั้งก่อนใช้ สุดท้ายไม่ว่าจะมีบัตรเครดิตกี่ใบ ต้องอย่าลืมตั้งงบประมาณในการใช้บัตรเครดิตในแต่ละเดือน เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้เงินมากเกินไปเพราะเมื่อมีเงินพลาสติกในมือ บ่อยครั้งที่เรามักจะเคลิบเคลิ้มตามคำชวนของผู้ขายที่ชักชวนให้ซื้อสินค้าเพิ่ม เพราะเรามั่นใจว่ามีอำนาจซื้ออยู่ในมือ แต่กำลังซื้อส่วนเพิ่มนั้นต้องอย่าลืมว่า เป็นการนำเงินในอนาคตมาจ่าย และการเผลอใช้เงินเกินความจำเป็น อาจซื้อความสุขได้ชั่วคราว แต่จะมีปัญหาขาดสภาพคล่องที่ตามมาในอนาคต
บัตรเครดิตใช้ให้ถูกที่ถูกทางก็มีประโยชน์มากมาย แถมยังสะสมแต้มแลกของรางวัล หรือส่วนลดต่างๆ ได้อีกด้วย ซึ่งถ้าเลือกใช้อย่างชาญฉลาดตามเทคนิคขั้นต้นนี้ รับรองว่า ใช้บัตรเครดิตมีแต่ข้อดี และห่างไกลจากหนี้แน่นอนค่ะ
วิธีลดดอกเบี้ยหนี้บัตรเครดิต
การลดดอกเบี้ยหนี้บัตรเครดิตสามารถทำได้ 3 วิธี
1. เพิ่มอัตราการผ่อนชำระ โดยเพิ่มอัตราการผ่อนชำระขึ้น 1 เท่า (จากขั้นต่ำ 5% เป็น 10% ) ซึ่งจะช่วยลดค่าดอกเบี้ยและระยะเวลาผ่อนชำระลงประมาณครึ่งหนึ่งเช่นกัน
ตัวอย่าง : ยอดค้างชำระ 10,000 บาท ณ อัตราดอกเบี้ย 18%
ตัวอย่าง : ยอดค้างชำระ 10,000 บาท ณ อัตราดอกเบี้ย 18%
ผ่อนชำระ (%ของยอดค้างชำระ/เดือน) หรือเป็นจำนวน (บาท) ค่าดอกเบี้ยทั้งสิ้น (บาท) ลดลงจากงวดก่อนหน้า (5%) ปลอดหนี้ภายใน (เดือน) | 5% 500 1987 - 28 | 10% 1,000 916 53.69% 12 | 15% 1,500 616 32.75% 8 | 20% 2,000 475 22.89% 6 |
หมายเหตุ : เป็นการคำนวณอย่างคร่าวๆ
2. โอนหนี้ รีไฟแนนซ์ (หรือทำ Balance Transfer) ไปวงเงินหรือบัตรอื่น หลักง่ายๆในการคำนวณ คือทุกๆ 1% ของอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง (เช่น โอนจากอัตราดอกเบี้ย 18% ไป 17% )จะสามารถประหยัดค่าดอกเบี้ยไปได้ประมาณ 6% ตัวอย่างเช่น โอนไปอัตราที่ต่ำกว่า 2% จะลดค่าดอกเบี้ยรวมไป 12% (6%x2)
ตัวอย่าง:
ตัวอย่าง:
กู้ 10,000 บาทที่ดอกเบี้ย 18% ผ่อนชำระขั้นต่ำ 5% ค่าดอกเบี้ยรวม 1,978 กู้ 10,000 บาทที่ดอกเบี้ย 17% ผ่อนชำระขั้นต่ำ 5% ค่าดอกเบี้ยรวม 1,842 ลดลง 136 หรือ 6.8% กู้ 10,000 บาทที่ดอกเบี้ย 16% ผ่อนชำระขั้นต่ำ 5% ค่าดอกเบี้ยรวม 1,709 ลดลง 133 หรือ 7.2% |
3. รีไฟแนนซ์ควบกับการเพิ่มอัตราการผ่อนชำระ การรีไฟแนนซ์พร้อมกับการจัดการผ่อนชำระให้หมดในระยะเวลาที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ จะทำให้ประหยัดมากที่สุด ซึ่งการลดหนี้บัตรเครดิตวิธีนี้ ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุด
ซึ่งสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาจนทำให้ต้องมีการปรับลดดอกเบี้ย คือการจ่ายชำระหนี้ตามยอดขั้นต่ำ โดยยอมให้ธนาคารผู้ออกบัตรคิดดอกเบี้ยจากเงินส่วนที่ค้างชำระ เมื่อใช้บัตรไปได้สักช่วงเวลาหนึ่ง พอถึงกำหนดจ่ายเริ่มมีการยืมเงินจากเพื่อน หรือคนรู้จัก หรือหาเงินจากที่อื่นที่ไม่ใช่เงินของตัวเองมาใช้ชำระหนี้บัตรเครดิตนั้น นั่นเป็นสัญญาณอันตราย ว่าเป็นการใช้บัตรเครดิตเกินกำลังของผู้ถือบัตรแล้ว จนสุดท้ายไม่สามารถจ่ายคืนได้ ส่งผลมาจนถึงต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ในที่สุด ซึ่งปัญหาเช่นนี้ จะทำให้รายชื่อของคุณติดเครดิตบูโร มีผลต่อการขอสินเชื่อหรือการทำธุรกรรมการเงินอื่นๆในอนาคตต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น