บล็อก สร้างรายได้ ได้อย่างไร?
Google AdSense
Google AdSense เป็นเครื่องมือโฆษณาของ Google ที่ทำงานร่วมกับ Google AdWord หลักการทำงานโดยสังเขป ดังต่อไปนี้
Google AdWord
เป็นเครื่องมือโฆษณาสำหรับฝั่ง Advertiser หรือ เจ้าของสินค้าและบริการที่มาซื้อโฆษณากับทาง Google และ Google จะนำโฆษณาของพวกเขาไปเผยแพร่ผ่านเครื่องมือโฆษณาที่ Google มี อาทิ Google Search Engine Marketing และ Google Display Network
Google AdSense
เป็นเครื่องมือ สร้างรายได้จากค่าโฆษณา สำหรับฝั่ง Publisher หรือ เจ้าของเว็บไซต์และบล็อก ที่นำเครื่องมือ Google Display Network มาแปะลงในเว็บไซต์ เครื่องนั้นเรียกว่า Google AdSense
สร้างรายได้อย่างไร
เจ้าของเว็บไซต์และบล็อกต้องสมัคร Google AdSense และรอการพิจารณาอนุมัติเป็น Publisher อย่างเป็นทางการจาก Google AdSense จึงจะสามารถนำโฆษณามาแปะลงในเว็บไซต์หรือบล็อกของตนได้ โดยป้ายโฆษณามีลักษณะเป็นโค้ดดิ้ง มีรูปทรงให้เลือก ทั้ง Leader board, Tower, Square ฯลฯ เมื่อแปะลงในเว็บไซต์หรือบล็อกแล้ว ระบบของ Google AdSense จะประมวลผลและดึงโฆษณาที่สัมพันธ์กับเนื้อหาบนเว็บไซต์มาแสดงผล
รายได้ประมาณเท่าไร
Google AdSense คำนวณรายได้ตามจำนวน Click ที่ป้าย แบ่งออกเป็น 2 ปัจจัยหลัก ๆ ได้แก่ 1) Cost per Click ซึ่งค่า คลิ๊ก ขึ้นอยู่กับหมวดหมู่โฆษณา โฆษณาในกลุ่ม การเงินจะมีค่าคลิ๊กที่สูงกว่า ในขณะที่บางหมดมีค่าคลิ๊กที่ต่ำกว่า นอกจากนั้นภาษาอังกฤษเป็นกลุ่มที่มีค่าคลิ๊กสูง และอาจสูงถึงคลิ๊กละ 40-50 เหรียญสหรัฐฯ สำหรับหมวดการเงินอย่าง Loan และ Insurance ในขณะที่ค่าคลิ๊กเว็บไซต์ภาษาไทยโดยมากไม่เกินคลิ๊กละ 1 เหรียญ
ปัจจัยที่ 2) คือ Click through Rate หรือปริมาณการคลิ๊กที่ป้าย ส่วนนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของป้ายและจำนวนการคลิ๊ก ซึ่งจำนวน CTR จะมากน้อยก็อยู่ที่จำนวนทราฟฟิกล้วน ๆ
ฉะนั้นรายได้จาก Google AdSense จึงบอกตรง ๆ ได้ยาก ต้องดูก่อนว่าเว็บไซต์ที่ติดป้าย Google AdSense นั้นเป็นภาษาอะไร Niche ใด และมีทราฟฟิกเท่าไรจึงจะวิเคราะห์ได้ว่าน่าจะมีรายได้จาก AdSense ในแต่ละเดือนหรือตลอดทั้งปีนั้น ๆ ที่กี่เหรียญ
สำหรับ CEOblog เฉลี่ย 10 เหรียญฯ ต่อ 10,000 ผู้เยี่ยมชม หากมี 1 ล้านผู้เยี่ยมชม ก็จะได้ประมาณ 1,000 เหรียญ หรือ 30,000 บาท แต่หากเป็นเว็บไซต์ภาษาอังกฤษ ด้วยปริมาณผู้เยี่ยมชมเท่ากันก็จะทำเงินได้มากกว่านี้
2. ขายสินค้าออนไลน์
E-Commerce เป็นวิธีสร้างรายได้ที่หลายคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี แต่มีน้อยคนที่จะรู้ว่าการเขียน บล็อก ต่อยอดสู่การขายสินค้าออนไลน์ได้ เพราะ บล็อก ถือเป็น สื่อ และเป็นสื่อประเภท Own media การมีบล็อกคือการมี สื่อเป็นของตัวเอง โดยที่คุณไม่ต้องเสียเงินซื้อสื่ออื่น เพียงปั้นบล็อกให้เติบโตและเข้าถึงคนได้มาก ถึงวันนั้นคุณจะสามารถประชาสัมพันธ์สินค้าของตัวเองได้ฟรี ๆ
การสร้างรายได้จากการ ขายสินค้าออนไลน์ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่
2.1 Stock products
อยู่ในรูปแบบของการ ‘ซื้อขาด’ หรือ การซื้อสินค้ามาสต็อกเพื่อขายและจัดส่งให้ลูกค้าด้วยตนเอง โดยจะเป็นรูปแบบของการ ซื้อมาขายไป หรือ การสร้างแบรนด์ เองก็ได้ กรณีแรกคุณอาจได้กำไรไม่ถึง 100% แต่ก็ไม่ต้องคิด ออกแบบ และผลิตสินค้าเองซึ่งค่อนข้างยุ่งยากและใช้เวลานาน แต่อาจมีคู่แข่งขายสินค้าที่เหมือนกัน ส่วนกรณีที่สองแม้จะยุ่งยากกว่าแต่ แบรนด์ จะช่วยป้องกันคู่แข่งได้ในระดับหนึ่ง และได้กำไรที่สูงกว่ารับของคนอื่นมาขาย
2.2 Drop shipping
วิธีนี้คุณต้องสร้างระบบ E-Commerce shopping cart ของตนเองขึ้นมาและทำการตลาดเพื่อให้คนมาซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์หรือบล็อกของคุณ รับออเดอร์ผ่านระบบของตนเอง และส่งออเดอร์พร้อมชำระเงินค่าสินค้าแก่ผู้ผลิต ผู้ผลิตทำการแพ็กและจัดส่งสินค้าไปให้ลูกค้า และคุณเก็บเงินส่วนต่างนั้นเป็นกำไรของตน วิธีนี้กำไรอาจน้อยหน่อย ไม่เกิน 50% แต่คุณไม่ต้องผลิต และไม่ต้องสต็อกสินค้าใด ๆ มีหน้าที่ทำการตลาดเป็นหลัก
2.3 Affiliate marketing
วิธีนี้จะตัดทุกกระบวนการที่กล่าวมาทั้งหมดและเหลือเพียง 1 เรื่องนั่นคือ ทำการตลาดออนไลน์ ให้คนเข้ามาพบข้อมูลสินค้าบนเว็บไซต์ของคุณ และเกิดการคลิ๊กไปที่ลิงค์ที่จะส่งคนไปยังหน้า Sales page ของสินค้านั้น ๆ เมื่อเกิดการซื้อขายสำเร็จ ลูกค้าได้รับสินค้าและไม่มีการคืนเงินภายในเวลาที่กำหนด คุณจะได้รับค่าคอมมิชชั่น โดยเจ้าของสินค้าสามารถรู้ได้ว่ายอดขายมาจากใครโดยการ Tracking ผ่าน Affiliate ID ที่จะฝังอยู่ในลิงค์สินค้าซึ่งจะแยกเป็นรายคน
โมเดลรายได้จาก Affiliate marketing นั้นไม่ได้มาก ประมาณ 3-10% แต่คุณไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องสต็อก ไม่ต้องส่ง ไม่เสี่ยงอะไรกับการลงทุนในเรื่องสินค้า จะเหลือมีหน้าหลัก คือ ทำการตลาดออนไลน์ให้สินค้านั้นขายได้
3. ขาย Information products
Information products เป็น ผลิตภัณฑ์ด้านข้อมูลความรู้ แบ่งออกเป็น
3.1 กลุ่มหนังสือ
เป็น Information products เก่าแก่และดั้งเดิมที่สุด ปัจจุบันสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ
a) หนังสือเล่มทำผ่านสำนักพิมพ์: ราคาขาย 200-500 บาท ส่วนแบ่ง 10% จากราคาปก
b) หนังสือเล่มแบบ Self-publishing: พิมพ์เองขายเองผ่านออนไลน์ก็ได้ ราคาขาย 200 – 500 บาท กำไร 50-70% จากราคาปก
c) E-Book: อีเล็คทรอนิกส์บุ๊ค ขายผ่าน Ookbee ราคาขาย 200 – 500 บาท กำไร 50% ขึ้นไปจากราคาปก
d) Audio book: เป็นการอ่านจากหนังสือ หรือจะเรียบเรียงขึ้นเป็นบทบรรยายใหม่ก็ได้ บันทึกเสียงเป็นไฟล์ CD Audio หรือไฟล์เสียงออนไลน์ก็ได้ ราคาขาย 200 – 900 บาท กำไร 50% ขึ้นไป ถ้าเป็นออนไลน์ก็อาจสูงถึง 100% เต็ม เพราะสามารถผลิตได้ด้วยตนเองจากที่บ้าน
3.2 กลุ่มวีดีโอ
หรือนิยมเรียกกันว่า คอร์สออนไลน์ เป็นการบรรยายผ่านหน้ากล้องก็ดี หรือบรรยายประกอบสไลด์ หรือแม้แต่บันทึกการบรรยายผ่านงานสัมมนาและนำมาทำเป็นไฟล์วีดีโอ ราคาขาย คอร์สออนไลน์มีตั้งแต่ 500-1000 บาท ไปจนถึงหลายพัน และหลักหมื่นบาท
3.3 กลุ่ม Live Event
ได้แก่ สัมมนาสด เวิร์คช็อป โค้ชชิ่ง และการให้คำปรึกษาต่าง ๆ ราคาสัมมนามีตั้งแต่หลัก 2,000 -4,000 บาทต่อที่นั่ง ไปจนถึงหลักหมื่น ส่วนการสอนแบบตัวต่อตัวอาจคิดเป็นชั่วโมงละหลักพันบาท ไปจนถึงชั่วโมงละหลักหมื่นบาท
วิธีทำให้ บล็อก ใหม่ของคุณเป็นที่รู้จัก
หัวใจของการสร้างรายได้จาก บล็อก คือ Blog/ Website traffic หรือ จำนวนคนเข้าเว็บไซต์นั่นเอง จำนวนคนเข้าบล็อกมีความสำคัญ 3 ข้อ
1. บ่งบอกถึงจำนวนของผู้คนในตลาดที่รู้จักบล็อกของคุณ
คนเข้าบล็อกจำนวนมากย่อมหมายถึงมีคนรู้จักคุณแล้วเป็นจำนวนมาก และคนเหล่านั้นจะสามารถสร้างรายได้ให้คุณ ไม่ว่าจะรายได้จากการที่มีสินค้าและบริการอยากมาลงโฆษณาด้วย หรือรายได้จากการขายสินค้าของคุณเองให้แก่ Fanclub/ Followers ของบล็อก
2. บ่งบอกถึง Authority ของบล็อกของคุณ
การมี Fanclub หรือ Followers ประจำบล็อกบ่งบอกถึง Authority หรือ ความเป็นผู้นำใน Niche ที่คุณเขียน ซึ่งจะเอื้อต่อการเสนอขายสินค้าในอนาคตไม่ว่าจะเป็น สินค้าของคุณเอง หรือจะเป็น Dropship และ Affiliate
3. เพื่อคาดการณ์อัตรา Click Through Rate
รายได้จาก Google AdSense ก็ดี หรือจาก E-Commerce store ที่อยู่ภายใน บล็อก ก็ดีล้วนคาดการณ์ได้จากอัตรา Click Through Rate ว่า จำนวนคนเข้าบล็อกเท่านี้ก่อให้เกิดการ ‘คลิ๊ก’ ป้ายโฆษณา Google AdSense กี่คน หรือคลิ๊กไปยัง E-Commerce store กี่คน เมื่อคลิ๊กไปแล้วเกิดการซื้อขายกี่คน (Traffic conversion) ค่า CTR และ Conversion เหล่านี้เป็นหลักคณิตศาสตร์ที่ค่อนข้างตายตัว และสามารถทำซ้ำได้ โดยคุณมีหน้าที่หาวิธีทำการตลาดให้คนเข้า บล็อก มากขึ้น โดยการตลาดออนไลน์เพื่อให้คนเข้าบล็อกมากขึ้นนั้นมีหลายแนวทาง และมีแนวทางพื้นฐานที่จะมาแนะนำกัน นั่นคือการทำ SEO
SEO คือ อะไร
Search Engine Optimization หรือ SEO คือการทำเว็บไซต์ให้ติดอันดับบน Google โดยคนทั่วไปอาจคิดว่าต้องจ่ายเงิน แต่การจ่ายเงินนั้นมี 2 แบบ แบบแรก คือ การทำ SEM หรือ Search Engine Marketing ก็คือการซื้อโฆษณา Google AdWord นั่นเอง ส่วนแบบที่สอง คือ การจ้าง SEO Specialist มาทำ SEO ให้เว็บไซต์
ส่วนการทำ SEO ด้วยตนเองก็สามารถทำได้เช่นกัน หากคุณเข้าใจหลักการทำงานพื้นฐานของ Google ก็จะสามารถทำให้เว็บไซต์ติดอันดับบน Google ได้ เพียงแต่จะไม่เร็วเท่ากับการทำ SEM หรือจ้าง SEO Specialist มาใช้เทคนิคพิเศษทำให้ แต่ก็นับว่าเป็นผลดีในระยะยาวเพราะหากสำเร็จก็จะติดอันดับกันยาว ๆ
สาเหตุเพราะหากเว็บไซต์ของคุณติดอันดับโดยธรรมชาติ 100% จากการคัดกรอกและให้อันดับโดย Google นั่นแปลว่า Google ได้เลือกคุณแล้ว และการติดอันดับจะเหนียวแน่นกว่าแม้ Google จะมีการปรับ Algorithm ใหม่ ๆ ในอนาคต
Google Algorithm คือ อะไร
Google Algorithm คือ โปรแกรมการจัดอันดับการค้นหาของเว็บไซต์ต่าง ๆ ตาม Factors ของ Google โดยจะมีการอัพเดท Algorithm อยู่ตลอดเวลา การอัพเดทเป็นไปเพื่อให้การจัดอันดับมีประสิทธิภาพ คัดเอาเว็บไซต์ที่พยายาม Hack ระบบการทำอันดับของ Google ออกไปและป้องกันการ Hack อันดับใหม่ ๆ รวมไปถึงกรองเว็บไซต์คุณภาพที่อาจถูกเบียดบังจากนัก Hack อันดับ Google ดังกล่าว
Factors การจัดอันดับของ Google มีอะไรบ้าง
การจัดอันดับของ Google นั้นมีเป็นพัน Factors แต่สิ่งที่นักการตลาดออนไลน์ควรรู้ไว้เป็นพื้นฐานในช่วงแรกมี 2 เรื่อง ได้แก่ Keywords และ Backlinks
Keyword Factors
Keyword คือ คำค้นหา เป็นคำค้นหาที่นักท่องอินเตอร์เน็ตป้อนลงไปใน Google Search Bar และปรากฏเป็นผลการค้นหา หรือ Google Search Result ซึ่งอาจมีเป็นแสนหรือเป็นล้านผลการค้นหา แต่ผลการค้นหาที่อยู่ 3 หน้าแรกเท่านั้นที่คนจะดู และส่วนใหญ่มักดูเพียงหน้า 1 เท่านั้น ดังนั้นเว็บไซต์ใดไม่ติดหน้าแรก โอกาสที่คนจะ คลิ๊ก เข้าไปดูในหน้าอื่น ๆ ก็น้อยลง โดยเฉพาะหลังหน้าที่ 4 และ 5 ไปแล้วนั้นแทบไม่มีโอกาสเลยที่คนจะกดตามไปดูผลการค้นหาของพวกเขา
แต่สิ่งที่เจ้าของ บล็อก สามารถทำได้ คือ การเขียนบล็อกใน Niche เฉพาะที่ชัดเจน และมีคีย์เวิร์ดที่จำเพาะมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น Keyword คำว่า ‘วิธีสร้างกล้ามเนื้อ’ จะพบว่ามีถึง 11,100,000 ผลการค้นหา
แต่หากพิมพ์ต่อไปว่า ‘วิธีสร้างกล้ามเนื้อด้วยการออกกำลังกายด้วยท่า Body weight’ จะเหลือเพียง 115,000 ผลการค้นหา เป็นต้น
ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า Longtail Keyword หรือ คำค้นหาแบบจำเพาะเจาะจง ซึ่งเป็นคีย์เวิร์ดที่ยาวและละเอียดขึ้น การตั้งชื่อบทความและการเขียนบทความลักษณะนี้จะมีโอกาสถูกพบเจอโดยคนที่ค้นหาบทความที่มีความ Niche หรือเป็น Micro-niche มาก ๆ ช่วยให้คุณได้กลุ่มเป้าหมายที่กำลังต้องการเรื่องเฉพาะนั้น ๆ อย่างเข้มข้น
Regular Keyword
Longtail Keyword
Backlink Factors
นอกจาก Keyword แล้ว Google ยังพิจารณาจาก Backlinks หรือ จำนวนคนที่นำบทความของคุณไปแชร์ต่อและใส่ Hyperlinks ที่คลิ๊กกลับมายังเว็บไซต์หรือบทความนั้น ๆ ของคุณได้ แบบนี้เรียกว่า คุณได้รับ Backlinks จากผู้อื่น ซึ่งในมุมมองของ Google จะมองว่า Backlinks เปรียบเสมือนเสียงโหวจากผู้อ่านว่า บทความดังกล่าว มีคุณภาพ มีประโยชน์ เหมาะแก่การบอกต่อ Google ก็จะให้คะแนนและดันอันดับให้
ทั้งนี้ Google ก็ไม่ได้ให้อันดับง่าย ๆ โดยเพียงมีจำนวน Backlinks เยอะ ๆ เพราะ Backlinks เป็นสิ่งที่คนสร้างกันเองได้ ดังนั้น Google จึงเพิ่มความเข้มงวดในการพิจาณา Backlinks ดังนี้
- เว็บไซต์ที่นำบทความของคุณไปแชร์ต่อ พูดในประเด็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกันหรือไม่
- เว็บไซต์ที่นำบทความไปแชร์ต่อก็เป็น Authority site ในตัวเองหรือไม่
- เว็บไซต์ที่นำบทความไปแชร์ต่อเปิดมานานแล้วหรือไม่
เหล่านี้เป็น 3 Factors ย่อยหลัก ๆ ของ Backlinks factor เพื่อให้มั่นใจว่า Backlinks นั้นก็ต้องมาจากเว็บไซต์คุณภาพสูงเช่นกัน ไม่ใช่เว็บไซต์ที่เพิ่งเปิดขึ้นมาเพียงเดือนสองเดือนที่อาจเปิดมาเพื่อใช้ในการยัด Backlinks โดยเจ้าของเว็บไซต์เอง หากผ่านเงื่อนไขเหล่านี้ Google จึงจะพิจารณาให้อันดับแก่ บล็อก ของคุณ
ทำอย่างไรให้ เว็บไซต์/บล็อก หาเจอบน Google สไตล์คนไม่รู้ SEO
SEO อาจฟังดูเป็นเรื่องยาก แต่เชื่อไม่ว่าคนไม่รู้ SEO ก็มีโอกาสทำเว็บไซต์/บล็อก ให้หาเจอบน Google ด้วยวิธีที่แสนจะเรียบง่ายนั่นคือ เขียนบทความใหม่ให้ บล็อก อย่างสม่ำเสมอ
อาหารของ Google คือ Content ดังนั้นมันต้องการ Content หรือ เนื้อหาใหม่ ๆ ตลอดเวลา และหน้าที่ของคุณคือการโฟกัสที่การ เขียนบทความให้มนุษย์อ่าน… ย้ำอีกครั้ง คุณไม่จำเป็นต้องเขียนบทความเพื่อเอาใจ Google มากนัก เพราะการเอาใจ Google มากเกินไปอาจทำให้บทความของคุณแข็งทื่อและไม่เป็นธรรมชาติ สิ่งที่คุณควรให้ความสำคัญคือ ผู้อ่านที่เป็นมนุษย์
เขียนให้ผู้อ่านที่เป็นมนุษย์ เมื่อเขาชอบ เขาจะอยู่ในบล็อกของคุณนานขึ้น เขาจะกลับมาอ่านต่อแบบ Direct traffic เขาจะบอกต่อ แชร์ต่อด้วยตัวของเขาเอง และหาก มนุษย์รักบล็อกของคุณ Google ก็จะตามมารักบล็อกของคุณโดยปริยาย
ส่วนความเข้าใจด้าน SEO ก็เพียงรู้จักการปรับ Keyword ในบทความให้สอดคล้องกับคำค้นหา โดยเพียง Search คำค้นหาในหัวข้อที่คุณจะเขียนเพื่อดูว่าหัวข้อเหล่านั้นที่ติดอันดับ Google อยู่แล้วเขาใช้ Keyword และรูปประโยคประมาณไหน คุณก็ใช้เป็นแนวทางในการตั้งชื่อหัวข้อบทความ และใส่ Keyword นั้น ๆ ลงไปใน Sub heading และในเนื้อหาอย่างพอเหมาะ อย่าเยอะเกินไปเพราะคุณอาจจะถูกตัดสินว่าพยายาม Hack ระบบการทำอันดับของ Google ได้
เขียน บล็อก วันแรกอยากให้คนเห็นต้องทำอย่างไร (เพราะกว่าจะหาเจอบน Google ก็หลายเดือน)
Google เป็นแผนระยะยาวระหว่าง 3-6 เดือนขึ้นไป แต่สำหรับวันแรกหรือแม้แต่เดือนแรกของการเขียนบล็อกนั้นจะไม่มีทราฟฟิกเข้าบล็อกเลย แต่นับว่าโชคดีมากที่วันนี้คุณมี โซเชียลมีเดีย อย่าง Facebook และ Twitter ที่มีทราฟฟิกหมุนเวียนจำนวนมากอยู่แล้ว และระบบโฆษณาบนโซเชียลซึ่งถือว่าไม่ได้แพงมาก ช่วยให้คนเห็นบล็อกของคุณตั้งแต่นาทีแรกที่เริ่มเผยแพร่ เป็นปรากฏการณ์ที่บล็อกเกอร์รุ่นแรก ๆ เมื่อ 10 กว่าปีก่อนทำไม่ได้ แต่คนสมัยใหม่ทำได้แล้ว
วิธีทำง่าย ๆ โดยการเปิด Facebook Business Page ซึ่งสามารถทำได้ฟรี และทำโฆษณา Facebook ด้วยการ Boost page วันละ 200-300 บาทในช่วง 1-2 เดือนแรกเพื่อกระตุ้นการเข้าถึง จากนั้นเมื่อ Facebook Business Page ของคุณติดตลาดแล้ว Orgianic reach จะตามมาโดยธรรมชาติ
Facebook Organic Reach Factors
ปัจจัยที่ก่อเกิด Organic reach ที่ดีได้แก่
1. เนื้อหาตรงกลุ่มเป้าหมาย
การมีแนวทางหรือ Niche ที่ชัดเจนจะช่วยดึงดูดกลุ่มเป้าหมายทีมีความสนใจในเนื้อหาอย่างเข้มข้นมาที่ Facebook Business Page ของคุณ คนเหล่านี้จะเป็นแรงส่งให้เพจของคุณเติบโต หากคุณทำบล็อกที่ต้องการพูดถึงหลาย ๆ Niche (ใน Category ใหญ่อันเดียวกัน)
เช่น Category ด้าน IT และ Gaddet คุณอาจเริ่มต้นจาก Smartphone ก่อนแล้วค่อยขยับขยายไป Tablet และ Accessories ในภายหลัง กล่าวคือ สิ่งที่คุณต้องการ คือ แฟนคลับที่มีความสนใจอย่างเข้มข้นในเนื้อหาของคุณในช่วงตั้งตัว เพราะกลุ่มนี้จะเป็นพลังหลักในการดันเนื้อหาของคุณให้เกิด Organic reach ต่อไป
2. โพสต์สม่ำเสมอ
ความสม่ำเสมอเป็นหัวใจสำคัญบน Google และ Facebook เช่นกัน เนื้อหาที่สดใหม่เผยแพร่อย่างสม่ำเสมอ แม้อาจไม่ทุกวัน แต่ทำให้คนคาดหวังว่าจะได้เข้ามาที่เพจแล้วจะได้เห็นบทความใหม่ อาจจะทุกวันจันทร์-พุธ-ศุกร์ แบบนี้ก็ได้
แนวคิดการเตรียมตัวก่อนประชาสัมพันธ์ บล็อก ของคุณ
หลายคนมักตื่นเต้นเมื่อ Set-up บล็อกเสร็จใหม่ ๆ และอยากออกไปเผยแพร่ให้คนเห็นเร็ว ๆ แต่หากคนเข้ามาอ่านแล้วพบว่ามีอยู่เพียง 2-3 บทความ บล็อกของคุณจะหมดเสน่ห์และไม่น่าประทับใจ วิธีการประชาสัมพันธ์ บล็อก ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดคือการปั้นบล็อกให้มีเนื้อหาสักประมาณหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น หากคุณทำบล็อก How-to ที่มีเนื้อหาเจาะลึก คุณอาจทำบล็อกให้มีสัก 10 บทความก่อนเผยแพร่
ในกรณีที่คุณเป็น บล็อกข่าว ซึ่งเขียนให้เสร็จได้เร็วกว่าแต่ต้องการการอัพเดททุกวัน ให้เขียนสำรองไว้ 20-30 บทความก่อนเผยแพร่ เพื่อคนอ่านเข้ามาแล้วรู้สึกว่า บล็อกของคุณดูมีอะไรให้เขาอ่าน
สรุป
บล็อก เปรียบเสมือน อสังหาริมทรัพย์ บนโลกออนไลน์ ใช้เวลาในการปั้นให้โต แต่บล็อกโตแล้วมันจะสามารถทำเงินแบบกึ่ง Passive income จาก 3 โมเดลรายได้หลัก ๆ ได้แก่ ขายโฆษณา, ขายสินค้า, และขายข้อมูลความรู้ นอกจากนั้น บล็อก ยังมีมูลค่าในตัวเองและสามารถขายต่อได้ในราคาหลายล้านบาท ดั่งกรณีของ Think of Living ที่มีกลุ่มนายทุนต่างประเทศเข้าซื้อด้วยเงินและหุ้นคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 200 ล้านบาท เป็นต้น (อ้างอิงข้อมูลจาก Blognone)
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.ceoblog.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น